สังคมฯ

อุปสงค์ อุปทาน และดุลยภาพตลาด
      ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและแบบผสม  กลไกราคาจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ  ว่าจะผลิตอะไร  และผลิตอย่างไร  ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวกำหนดราคาสินค้าและบริการในทางเศรษฐกิจ  คือ อุปสงค์ของผู้บริโภค  และอุปทานของผู้ผลิตนั่นเอง

2.1 อุปสงค์ (Demand)


            2.1.1 ความหมายของอุปสงค์

                         อุปสงค์ (Demand) หมายถึง ปริมาณสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีผู้ต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่างๆ ของสินค้าชนิดนั้นภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยสมมุติให้ปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปสงค์คงที่ ความต้องการในที่นี้ต้องมีอำนาจซื้อ(purchasing power หรือ ability to pay)ด้วย ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีแต่ความต้องการในตัวสินค้าโดยไม่มีเงินที่จะจ่ายซื้อ เราเรียกความต้องการลักษณะนั้นว่า “ความต้องการ (want)” ไม่ใช่ “อุปสงค์ (want)”  ดังนั้น องค์ประกอบของอุปสงค์ จะประกอบด้วย ความต้องการและอำนาจซื้อ

2.1.2 กฎของอุปสงค์ (Law of Demand)

                        กฎของอุปสงค์ (Law of Demand) อธิบายถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าเมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไป กฎของอุปสงค์กล่าวว่า "ปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อในขณะใดขณะหนึ่งจะมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับราคาสินค้าชนิดนั้น"  โดยมีข้อสมมติให้ปัจจัยอื่นๆคงที่  แสดงว่า

1. เมื่อราคาสินค้าชนิดนั้นลดลง  ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าชนิดนั้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาของสินค้าชนิดอื่นๆ  จึงลดการบริโภคสินค้าชนิดอื่นลง  แล้วหันมาบริโภคสินค้าชนิดนั้นเพิ่มขึ้นแทนการบริโภคสินค้าชนิดอื่นที่ลดลง ในตรงกันข้าม ถ้าราคาสินค้าชนิดนั้นสูงขึ้น  ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าชนิดนั้นมีราคาแพงเมื่อเทียบกับราคาของสินค้าชนิดอื่นๆ  จึงลดการ บริโภคสินค้าชนิดนั้นลง  แล้วหันมาบริโภคสินค้าชนิดอื่นๆเแทน  เราเรียกผลของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภคอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในราคาเปรียบเทียบ (Relative price) ของสินค้าว่า ผลของการใช้แทนกัน (Substitution effect)

2. เมื่อราคาสินค้าชนิดนั้นลดลง  ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าเหมือนกับว่าเขามีรายได้เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้เพราะรายได้จำนวนเดิมจะมีอำนาจซื้อมากขึ้น  ดังนั้น เขาจึงซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าราคาสินค้าชนิดนั้นสูงขึ้น  ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าเหมือนกับว่าเขามีรายได้น้อยลง ดังนั้น เขาจึงซื้อสินค้าลดลง  เราเรียกผลของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการบริโภคอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอำนาจซื้อของเงินรายได้ว่า ผลของรายได้ (Income effect)

2.1.3 ตารางอุปสงค์และเส้นอุปสงค์
          บัญชีหรือตารางปริมาณสินค้าในระดับต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องการและสามารถซื้อได้ ณ ระดับราคาต่างๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยปัจจัยอื่นๆ คงที่    ลักษณะของเส้นอุปสงค์
              เส้นอุปสงค์ (Demand Curve) จะมีลักษณะเป็นเส้นตรงลาดลงจากซ้ายมาขวา ความชัน (slope) ของเส้นเป็นลบ เนื่องจากราคาและปริมาณความต้องการซื้อมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม

2.1.4 อุปสงค์ส่วนบุคคล (Individual Demand) และอุปสงค์ตลาด (Market Demand)

ในการพิจารณาอุปสงค์ ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคคนใดคนหนึ่งต้องการ เรียกอุปสงค์นั้นว่า “อุปสงค์ส่วนบุคคล (Individual Demand)” แต่ถ้าพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคทั้งหมดในสังคมหนึ่งๆ ต้องการซื้อ เรียกอุปสงค์นั้นว่า “อุปสงค์ของตลาด (Market Demand)”

เมื่อพิจารณาความต้องการซื้อส้มของนาย ก. และนาย ข. ณ ระดับราคาส้มกิโลกรัมละ 70 บาท นาย ก. ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม ส่วนนาย ข. ซื้อส้ม 2 กิโลกรัม ดังนั้น อุปสงค์ส่วนบุคคลของนาย ก. คือ 1 กิโลกรัม อุปสงค์ส่วนบุคคลของนาย ข. คือ 0 กิโลกรัม ส่วนอุปสงค์ของตลาดคือ 1 + 0 = 1 กิโลกรัม  ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราทราบอุปสงค์ของนาย ก. และนาย ข. ณ ระดับราคาอื่นๆ เราก็สามารถหาอุปสงค์ของตลาด ณ ระดับราคาต่างๆ กันได้ ดังแสดงในช่องสุดท้ายของ เราอาจแสดงการหาอุปสงค์ของตลาดจากอุปสงค์ของแต่ละบุคคลโดยรูปได้ดังนี้

2.1.5 ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์

ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์ของสินค้านอกจากราคาของสินค้าแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ดังนี้

รายได้ของผู้บริโภค ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า ในกรณีสินค้าปกติ (Normal Goods) และสินค้าฟุ่มเฟือย (Superior Goods) รายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน ส่วนในสินค้าด้อยคุณภาพ (Inferior Goods) รายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม

ระดับราคาสินค้าชนิดอื่น  ปริมาณการเสนอซื้อสินค้าถูกกำหนดโดยราคาสินค้าชนิดอื่นด้วย เนื่องจากสินค้าที่ซื้อขายในตลาดมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ สินค้าบางชนิดสามารถใช้แทนกันได้ (Substitute goods) หรือสินค้าบางชนิดต้องใช้ร่วมกัน (complementary goods)  ดังนั้น การที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งปริมาณเท่าใดต้องพิจารณาถึงราคาของสินค้าชนิดอื่นที่สัมพันธ์กันด้วย

รสนิยมของผู้บริโภค รสนิยมของบุคคลโดยทั่วไปจะแตกต่างกันไปตาม อายุ อาชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี ระดับการศึกษา และบุคลิกส่วนตัว นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ยุคสมัย นอกจากนี้ความนิยมในแต่ละสินค้ายังเปลี่ยนแปลงได้เร็วช้าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสินค้าที่พิจารณา

การคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคต การคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปสงค์ของสินค้าเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับการคาดคะเนของผู้บริโภคแต่ละคน

ขนาดและโครงสร้างของประชากร   โดยปกติถ้าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอุปสงค์ของสินค้าแทบทุกชนิดย่อมเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างประชากรด้วย ลักษณะโครงสร้างประชากรมีผลให้อุปสงค์ของสินค้าบางชนิดเพิ่มขึ้นและบางชนิดลดลง

ปัจจัยอื่นๆ การที่ผู้บริโภคจะมีอุปสงค์ต่อสินค้ายังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น อุปนิสัยในการใช้จ่าย ลักษณะการจัดเก็บภาษีของรัฐ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

2.1.6 การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์

การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ 2 แบบคือ

        1.การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปสงค์ (Change in quantity demand) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์เนื่องจากราคาสินค้าชนิดนั้นเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ข้อสมมุติปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปสงค์คงที่ การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปสงค์จะทำให้ปริมาณการเสนอซื้อเปลี่ยนแปลงอยู่บนเส้นอุปสงค์เส้นเดิม ถ้าพิจารณาจากกราฟ การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ ดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการเคลื่อนไหวอยู่ภายในเส้นอุปสงค์เส้นเดิมจาก จุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ตามรูปจากจุด A ไปยัง จุดB)

         2.การเปลี่ยนแปลงระดับอุปสงค์ (Change in demand) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์เนื่องจากปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่ออุปสงค์ เช่น รายได้ ราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนแปลง ภายใต้ข้อสมมุติราคาสินค้าชนิดนั้นคงที่ และส่งผลให้เส้นอุปสงค์เกิดการเคลื่อนย้ายไปจากเส้นเดิม ถ้าผลการเปลี่ยนแปลงทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเส้นจะเลื่อนระดับไปด้านขวามือของเส้นเดิม และถ้ามีผลให้อุปสงค์ลดลงเส้นจะเลื่อนระดับไปทางซ้ายมือของเส้นเดิม  ถ้าพิจารณาจากกราฟ การเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการเคลื่อนย้ายเส้นอุปสงค์ไปทั้งเส้นจากเส้นเดิมไปสู่เส้นใหม่ โดยถ้าเส้นอุปสงค์เคลื่อนย้ายไปทางขวาของเส้นเดิมแสดงว่าอุปสงค์เพิ่มขึ้น ถ้าเคลื่อนย้ายไปทางซ้ายแสดงว่าอุปสงค์ลดลง



2.2 อุปทาน


            อุปทาน (Supply) หมายถึง ปริมาณสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้ผลิตเต็มใจนำออกเสนอขายในตลาดภายในระยะเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ กันของสินค้าและบริการนั้น โดยสมมติให้ปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปทานคงที่
จากความหมายของอุปทาน จะเห็นได้ว่าอุปทานประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ

1.         ความเต็มใจที่จะเสนอขายหรือให้บริการ (willingness) กล่าวคือ ณ ระดับราคาต่างๆ ที่ตลาดกำหนดมาให้ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการมีความยินดีหรือเต็มใจที่จะเสนอขายสินค้าหรือให้บริการตามความต้องการซื้อของผู้บริโภค

2.         ความสามารถในการจัดหามาเสนอขายหรือให้บริการ (ability to sell) กล่าวคือ ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการจะต้องจัดหาให้มีสินค้าหรือบริการอย่างเพียงพอที่จะ

          กฎของอุปทาน (Law of Supply) จะอธิบายถึงพฤติกรรมของผู้ผลิตในการแสวงหากำไรสูงสุด กฎของอุปทานกล่าวว่า “ปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตเต็มใจจะนำออกขายในระยะเวลาหนึ่งขึ้นอยู่กับราคาสินค้านั้นๆ ในทิศทางเดียวกัน”  กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นปริมาณอุปทานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายมากขึ้น เพราะคาดการณ์ว่าจะได้กำไรสูงขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อราคาสินค้าลดลงปริมาณอุปทานจะน้อยลง เนื่องจากคาดการณ์ว่ากำไรที่ได้จะลดลง ลักษณะทั่วไปของเส้นอุปทานจึงเป็นเส้นที่มีลักษณะที่ลากเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวา ภายใต้ข้อสมมติว่าปัจจัยตัวอื่นๆที่มีผลต่ออุปทานมีค่าคงที่

2.2.3 ตารางอุปทานและเส้นอุปทาน

ในทำนองเดียวกันกับตารางอุปสงค์ ตารางอุปทาน (supply schedule) เป็นตารางตัวเลขที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอุปทานของสินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ตารางอุปทานส่วนบุคคล (individual supply schedule) เป็นตารางตัวเลขแสดงปริมาณอุปทานในสินค้าหรือบริการของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆและเช่นเดียวกันกับกรณีของอุปสงค์ จากตารางนี้เราสามารถนำตัวเลขแต่ละคู่ลำดับของราคาและปริมาณอุปทานมา พลอตเป็นจุด และเมื่อเชื่อมโยงจุดเหล่านี้เข้าด้วยกันจะได้เส้นอุปทานส่วนบุคคลตามภาพ 6.7 ซึ่งเป็นเส้นที่มีลักษณะเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวาตามกฎของอุปทาน


 2.2.4 อุปทานส่วนบุคคล (Individual Supply) และอุปทานตลาด (Market Supply)

ในการพิจารณาอุปทาน ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้ากับปริมาณการเสนอขายสินค้าที่ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งต้องการเสนอขาย เรียกอุปทานนั้นว่า “อุปทานส่วนบุคคล

2.2.5 ปัจจัยที่กำหนดอุปทาน

            การที่ผู้ผลิตจะนำสินค้าออกมาเสนอขายมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากราคาของสินค้าชนิดจะเป็นปัจจัยที่กำหนดแล้วยังมีอีกหลายปัจจัย ดังนี้

            ต้นทุนการผลิต การตัดสินใจในปริมาณการผลิตผู้ผลิตจะเปรียบเทียบระหว่างรายได้จากการขายสินค้ากับต้นทุนในการผลิต ต้นทุนการผลิตมีผลต่อปริมาณการผลิตสินค้าโดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม

            ราคาของสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงในราคาสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งใดอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อปริมาณเสนอขายสินค้าอีกชนิดหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของสินค้า เช่น สินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงไปด้วย

            สภาพดินฟ้าอากาศ   สภาพดินฟ้าอากาศมีผลกระทบต่อปริมาณการเสนอขายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตร สภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยจะส่งผลให้อุปทานสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น

            เทคโนโลยี ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการผลิตมาก การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปริมาณผลผลิตด้วย

            นโยบายรัฐบาล  ปริมาณเสนอขายสินค้าอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ เช่น ถ้าจัดเก็บภาษีการค้าเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตอาจลดการผลิตลงเนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น เป็นต้น

2.2.6 การเปลี่ยนแปลงอุปทาน

การเปลี่ยนแปลงของอุปทานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 2 แบบคือ

การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปทาน (Change in quantity supply) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปทานเนื่องจากราคาสินค้าชนิดนั้นเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ข้อสมมุติปัจจัยอื่นๆ ที่กำหนดอุปทานคงที่ การเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปทานจะทำให้ปริมาณการเสนอขายเปลี่ยนแปลงอยู่บนเส้นอุปทานเส้นเดิม ถ้าพิจารณาจากกราฟการเปลี่ยนแปลงของอุปทานดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลง ในลักษณะของการเคลื่อนไหวอยู่ภายในเส้นอุปทานเส้นเดิม จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ดังรูป จากจุด A ไปยังจุด B )

การเปลี่ยนแปลงระดับอุปทาน (Change in supply) เป็นการเปลี่ยนแปลงอุปทานเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่ออุปทาน เช่น ต้นทุนการผลิต เทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนแปลง ภายใต้ข้อสมมุติราคาสินค้าชนิดนั้นคงที่ และส่งผลให้เส้นอุปทานเกิดการเคลื่อนย้ายไปจากเส้นเดิม ถ้าผลการเปลี่ยนแปลงทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นเส้นจะเลื่อนระดับไปด้านขวามือของเส้นเดิม และถ้ามีผลให้อุปทานลดลงเส้นจะเลื่อนระดับไปทางซ้ายมือของเส้นเดิม ถ้าพิจารณาจากกราฟการเปลี่ยนแปลงของอุปทานดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการเคลื่อนย้ายเส้นอุปทานไปทั้งเส้นจากเส้นเดิมไปสู่เส้นใหม่ โดยถ้าเส้นอุปทานเคลื่อนย้ายไปทางขวาของเส้นเดิมแสดงว่าอุปทานเพิ่มขึ้น ถ้าเคลื่อนย้ายไปทางซ้ายแสดงว่าอุปทานลดลง



2.3 ดุลยภาพตลาด (Market Equilibrium)


            ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กลไกราคา (Price Mechanism) เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมอุปสงค์และอุปทานในตลาดให้เกิดความสมดุล ถ้าอุปสงค์และอุปทานไม่เท่ากันจะมีการปรับตัวจนกระทั่งเกิดสมดุลหรืออุปสงค์เท่ากับอุปทาน ดุลยภาพจะไม่เปลี่ยนแปลงตราบเท่าที่ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์และอุปทานไม่เปลี่ยนแปลง ราคาสินค้า ณ จุดที่อุปสงค์เท่ากับอุปทานเรียกว่า “ราคาดุลยภาพตลาด (Market Equilibrium Price)” ปริมาณสินค้า ณ จุดนั้นเรียกว่า “ปริมาณดุลยภาพตลาด (Market Equilibrium Quantity)” และเรียกจุดดังกล่าวว่า “ดุลยภาพตลาด

ระดับราคาที่อยู่เหนือราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (excess supply or surplus) เนื่องจากระดับราคาดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายมาก แต่ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อน้อย เกิดความไม่สมดุล ณ ระดับราคาดังกล่าว ถ้าผู้ผลิตมีความต้องการที่จะขายก็จะต้องลดราคาลงมา เพื่อกระตุ้นหรือจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ (มีความต้องการซื้อ) มากขึ้น โดยสรุป ราคาจะมีแนวโน้มลดลงจากเดิมจนเข้าสู่ราคาดุลยภาพ ในทางกลับกัน ถ้าราคาอยู่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด (excess demand or shortage) ซึ่งราคาดังกล่าว ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายน้อย แต่ผู้บริโภคกลับมีความต้องการซื้อมาก เกิดความไม่สมดุล เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการซื้อมาก (อุปสงค์เพิ่ม) ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตเสนอขายสินค้ามากขึ้น ในที่สุดราคาจะมีแนวโน้มเข้าสู่ราคาดุลยภาพ

กล่าวโดยสรุป ระดับราคาที่อยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะเป็นระดับราคาที่ไม่มีเสถียรภาพ ราคาที่อยู่สูงกว่าราคาดุลยภาพจะมีแนวโน้มลดลงมา ส่วนราคาที่อยู่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพ จะมีแนวโน้มสูงขึ้น จนในที่สุดเข้าสู่ดุลยภาพของตลาด ซึ่งเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ เป็นระดับราคา ณ จุดที่อุปสงค์เท่ากับอุปทาน (เส้นอุปสงค์ตัดกับเส้นอุปทาน)

 2.4 บทบาทของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อดุลยภาพของตลาด

จากการที่เราได้ทำการศึกษาเรื่องของอุปสงค์ อุปทาน และดุลยภาพของตลาดมาแล้ว ต่อไปเราจะศึกษาบทบาทของรัฐบาลที่เข้าไปแทรกแซงตลาดโดยใช้นโยบายการควบคุมราคา ซึ่งมีผลกระทบต่อดุลยภาพของตลาด

การควบคุมราคา (price control) คือการที่รัฐบาลยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อทำให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพ ทั้งนี้ เพราะสินค้าบางชนิดราคาไม่ค่อยมีเสถียรภาพ กล่าวคือ เมื่อปริมาณการผลิตเปลี่ยนแปลงไปมักจะทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำเกินไปจนทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ผลิตได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นรัฐบาลจึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านผู้บริโภคและผู้ผลิต มาตรการที่ใช้โดยทั่วๆไปแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ


การกำหนดราคาขั้นสูง (maximum price control)

การควบคุมราคาขั้นสูงเป็นมาตรการที่รัฐบาลควบคุมราคาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น